Collaborative Ads โฆษณาที่คนทำ E-Commerce มองข้ามไม่ได้
จากการที่โลกของเรามีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง การช้อปปิ้งสินค้าออนไลน์จึงกลายมาเป็นวิถีชีวิตปกติของคนในยุคปัจจุบันไปซะแล้ว มีร้านค้าออนไลน์เกิดขึ้นมากมายในขณะเดียวกันอัตราการเติบโตของโลกออนไลน์ก็พุ่งขึ้นเป็นหลายเท่า
Collaborative Ads ของ Facebook คือหนึ่งในเครื่องมือที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้แบรนด์และผู้ค้าปลีกสามารถเพิ่มยอดขายและการเติบโตบนฝั่งออนไลน์ ดังนั้นวันนี้เราจึงขอหยิบยกเอา Collaborative Ads หรือ CPAS Ads ของ Facebook มาอธิบาย ขยายความให้ฟังกันว่าคืออะไร
Table of Contents
Collaborative Ads คืออะไร
สำหรับ Collaborative Ads นั้นคือรูปแบบการทำโฆษณาใหม่จาก Facebook ที่จะช่วยลดความซับซ้อนในการซื้อสินค้าออนไลน์ โดยจะเป็นการที่ผู้ค้าปลีกทำการตั้งค่าโฆษณาแบบไดนามิค (Dynamic Ads) และสร้างแคตตาล็อกสินค้าเพื่อจัดหมวดหมู่แยกเป็นแต่ละแบรนด์เอาไว้ จากนั้นแบรนด์เองก็สามารถใช้แคตตาล็อกสินค้าเหล่านั้นในการทำโฆษณาแบบไดนามิคไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมหรือกลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจในสินค้าของพวกเขาจริงๆ
แน่นอนว่าการทำเช่นนี้ทั้งผู้ค้าปลีกและแบรนด์ต่างได้ผลประโยชน์ร่วมกันทั้งคู่ ผู้ค้าปลีกซึ่งเป็นเจ้าของแคตตาล็อกนั้นก็ขายสินค้าได้ ส่วนแบรนด์ก็ได้การรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) ไปด้วยเช่นกัน ทั้งนี้โดยปกติแล้วโฆษณาแบบไดนามิคจะต้องให้คุณกำหนดปลายทางเป็นหน้าเว็บไซต์ของสินค้าตัวนั้นๆ อยู่แล้ว นั่นจึงทำให้มีโอกาสสูงมากในการขายสินค้าเพราะลูกค้าไม่ต้องออกจาก Facebook แล้วเข้าไปซื้อในเว็บไซต์แยกเหมือนเมื่อก่อน
จริงอยู่ที่ว่า Collaborative Ads นั้นปลายทางจะถูกลิงก์ไปยังแคตตาล็อกของผู้ค้าปลีกต่างๆ (ที่แบรนด์ไปดึงมาทำโฆษณา) แต่ในระยะยาวก็จะสร้างแรงกระทบเชิงบวกในแง่ของยอดขายให้กับแบรนด์ได้เช่นกัน เพราะถ้าผู้ค้าปลีกขายสินค้าได้ พวกเขาก็ต้องมาซื้อสินค้าจากแบรนด์เพิ่มขึ้นนั่นเอง
ในขณะที่ Collaborative Ads ของ Facebook จะช่วยเพิ่มความนิยมให้กับสินค้า ในฝั่ง Instagram เอง Collaborative Ads ก็มีข้อดีไม่น้อย อย่างบนลาซาด้าเรามักจะคุ้นเคยกับการที่มีแคมเปญโปรโมชั่นมากมายออกมาตลอดเวลา ตัวอย่างเช่นแคมเปญ Maday ที่แบรนด์ก็มีโอกาสในการได้ประโยชน์ทั้งแง่ของรายได้และปรับปรุงการแสดงผลของแคมเปญการตลาดของพวกเขาเอง
CPAS คืออะไรและทำงานอย่างไร
CPAS Ads ของ Facebook นั้นย่อมาจาก ‘Collaborative Placement Advertising Solution’ หรือแปลตรงๆ ตัวก็คือแพลตฟอร์มที่ทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในการทำโฆษณาแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน โดยระบบนี้ได้มีการอนุญาตให้แบรนด์ได้มีการจับมือร่วมกับแพลตฟอร์ม E-Commerce อย่าง Lazada และ Shopee
โดยจุดมุ่งหมายของการทำงานร่วมกันนี้เพื่อเป็นการทำให้ตัวชี้วัดโฆษณามีผลลัพธ์ในเชิงบวกยิ่งขึ้น โดย CPAS คือตัวช่วยให้การจัดสรรงบประมาณและการวางแผนแคมเปญสำหรับหลากหลายแบรนด์นั้นมีความโปร่งใสและเข้าถึงข้อมูลได้แบบเรียลไทม์
ก่อนที่จะมี Collaborative Ads แบรนด์นั้นยังไม่สามารถที่จะสืบค้นได้ว่าแคมเปญโฆษณาตัวไหนของพวกเขาที่ประสบความสำเร็จหากพวกเขาไม่มีแพลตฟอร์ม E-Commerce เป็นของตัวเอง แต่สำหรับรูปแบบโฆษณาใหม่นี้แบรนด์ต่างๆ สามารถทำโฆษณา จับมือกับแลพตฟอร์ม E-Commerce ต่างๆ ที่มีสินค้าของพวกเขาวางขายอยู่ได้และที่สำคัญยังสามารถวิเคราะห์ความสำเร็จจากแคมเปญโฆษณาของพวกเขาได้อีกด้วย
เพราะการมีความสามารถในการวัดปริมาณความสำเร็จนั้น จะทำให้แบรนด์สามารถปรับปรุงกลยุทธ์ทางการตลาดและกลุ่มเป้าหมายได้อย่างถูกต้องมากขึ้น
นี่คือตัวอย่าง Collaborative Ads ของ Facebook จาก Estee Lauder ประเทศไทยที่ทำกับ Lazada
โดย Estee Lauder ประเทศไทย (ในฐานะแบรนด์) ได้ร่วมมือกับ Lazada (ผู้ค้าปลีก) โดยแคตตาล็อกสินค้านั้นถูกสร้างขึ้นโดย Lazada แต่ถูกใช้ทำโฆษณาโดย Estee Lauder ประเทศไทยในการทำแคมเปญโฆษณาแบบไดนามิค โดยในภาพคุณจะเห็นปุ่ม “Shop Now” บนโฆษณาของ Estee Lauder แต่เมื่อคลิกไปแล้วผู้ใช้จะถูกนำส่งไปยังหน้าเว็บสินค้าตัวดังกล่าวบน Lazada ซึ่งลูกค้าก็สามารถกดอ่านข้อมูล รายละเอียดสินค้าเพิ่มเติมหรือสั่งซื้อสินค้าได้ในทันที
โดยกระบวนการทำงานจะมีอยู่ 4 ขั้นตอนดังนี้
- โฆษณาแบบไดนามิคจะถูกทำโดยแบรนด์จะไปแสดงให้กลับเป้าหมายที่มีโอกาสกลายมาเป็นลูกค้า
- เมื่อผู้ใช้ทำการคลิกบนรูปภาพใน Collaborative Ads ระบบจะพาให้พวกเขาเข้าไปสู่หน้าที่มีปุ่ม “Shop Now”
- เมื่อคลิกที่ปุ่ม “Shop Now” ระบบจะทำการส่งไปยังเว็บไซต์ของผู้ค้าปลีก
- ลูกค้าสามารถค้นหาสินค้าตัวอื่นๆ ของแบรนด์เพิ่มเติมได้และแน่นอนว่าสามารถสั่งซื้อสินค้าทุกตัวบนเว็บไซต์ค้าปลีกนั้นได้เลย
*เทคนิค: ในกรณีที่ผู้ใช้ไม่ได้ทำการซื้อสินค้าจนสำเร็จแต่มีการกดเพิ่มสินค้าลงตะกร้า คุณสามารถทำแคมเปญ Re-Targeting เพื่อให้โฆษณานั้นตามไปแสดงให้พวกเขาเห็นซ้ำๆ หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “โฆษณาหลอกหลอน” ได้
สำหรับการใช้ Collaborative Ads นั้นทั้งแบรนด์และผู้ค้าปลีกจะสามารถติดตามผลการดำเนินการโฆษณาของพวกเขาได้ สามารถใช้ตัวชี้วัดได้ทั้ง Reach, Impressions, Conversions, Click และ Return on Ad Spend.
ประโยชน์ของ Collaborative Ads มีดังต่อไปนี้
สำหรับแบรนด์
- วัดประสิทธิภาพและการเพิ่มโอกาสทางการขายจากโฆษณาได้อย่างแม่นยำ
- สร้างโอกาสในการเพิ่มจำนวนผู้ชมสู่เว็บไซต์และทำการซื้อสินค้าจากแบรนด์
- เข้าถึงรายงานผลประกอบการได้แบบเรียลไทม์ ในทุกๆ ด้านของแคมเปญ
- ช่วยเพิ่มประมาณการเข้าถึงและขยายขอบเขตการมองเห็นให้เพิ่มมากขึ้น
- ลดค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงเว็บไซต์
สำหรับผู้ค้าปลีก
- มีความสามารถในการร่วมมือกับแบรนด์ที่หลากหลายในขณะที่มั่นใจในความปลอดภัยได้
- เพิ่มยอดขายผ่านแบรนด์ต่างๆ และเพิ่มการเป็นที่ยอมรับ
- ขยายขอบเขตการเข้าถึงทั้งแพลตฟอร์มตลอดจน Collaborative Ads ของแบรนด์
การเปิดใช้ Collaborative Ads ของ Facebook นั้นช่วยทำให้แบรนด์ต่างๆ มีความมั่นใจในโฆษณาที่พวกเขากำลังทำอยู่มากขึ้นเนื่องจากมีผลลัพธ์ที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ ซึ่งก่อนหน้านี้แบรนด์จะไม่มีสิทธิ์ในการเข้าถึง Conversion Rates จากข้อจำกัดในการปกป้องข้อมูลของแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายคือแบรนด์กับผู้ค้าปลีกนั้น จะมีสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลที่ช่วยให้สามารถติดสินใจได้อย่างแม่นยำกับการประยุกต์ใช้ข้อมูลนั้นๆ
Join the discussion - 0 Comment