เคล็ดไม่ลับฉบับเอเจนซี่ ทำ SEO อย่างไรให้ปัง! ติดหน้าแรกทุกการค้นหา

ถ้าคุณคือหนึ่งคนที่กำลังสงสัยอยู่ว่า “ทำไมการทำให้เว็บไซต์ติดหน้าแรก Google จึงเป็นเรื่องสำคัญ” บทความนี้นอกจากจะมาไขความกระจ่างถึงความสำคัญของการทำ SEO แล้ว ยังจะบอกวิธีที่คุณสามารถทำ SEO ด้วยตัวเองเพื่อให้เว็บไซต์ติดหน้าแรก Google ได้อีกด้วย หรือถ้าจะไปจ้างเอเจนซี่ให้ทำ SEO ก็จะได้เข้าใจและพูดคุยกับเขารู้เรื่องหากพร้อมแล้วเราไปเริ่มกันตั้งแต่ความหมายของมันกันเลยดีกว่าว่า SEO คืออะไร?

จริงๆ แล้วเราได้เคยมีการเขียนบทความถึงความหมายอย่างละเอียดว่า SEO คืออะไร เอาไว้แล้ว ดังนั้นมาขยายความถึงพื้นฐานของสิ่งที่ทำให้เราต้องทำ SEO กันดีกว่าและที่กำลังจะพูดถึงต่อจากนี้ก็คือ Search Engine

Table of Contents

Search Engine หมายถึง

หากแปลตรงตัวคำนี้ก็จะแปลได้ว่า “เป็นเครื่องมือสำหรับใช้ในการค้นหา” ลองจินตนาการดูว่าหากในปัจจุบันไม่มี Search Engine เอาไว้ให้คุณใช้งานในขณะที่บนโลกออนไลน์มีเว็บไซต์นับล้านคุณจะค้นหาสิ่งที่ต้องการเจอได้อย่างไร แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ Search Engine จึงเป็นเครื่องมือที่รวบรวมเอาข้อมูลทั้งเว็บไซต์ รูปภาพ วิดีโอ ฯลฯ บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั้งหมด มาแสดงผลตามคำค้นหา (Keyword) ที่ผู้ใช้ใส่เข้าไป

Search Engine มีอะไรบ้าง

แน่นอนว่าชื่อแรกที่คุณจะต้องนึกถึงก็คือ Google แต่นอกจากนี้แล้วยังมี Search Engine อื่นๆ อีกเช่น Yahoo, Bing, Ask ฯลฯ หรือจะเป็นของจีนอย่าง Baidu Search เป็นต้น

อยากเริ่มแล้ว มีข้อควรรู้อะไรก่อนเริ่มทำ SEO บ้าง

อันที่จริงการจะทำ SEO นั้นคุณจะต้องอาศัยองค์ความรู้ในหลายๆ ด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับหน้าเว็บไซต์ อาจจะไม่ต้องถึงขั้นเขียนโปรแกรมเป็นแต่จะต้องรู้และเข้าใจองค์ประกอบภาษา HTML ว่ามีส่วนประกอบที่สำคัญอะไรบ้างเสียก่อน โดยองค์ประกอบพื้นฐานบนหน้าเว็บไซต์ทั่วไปจะมีส่วนสำคัญใหญ่ๆ อยู่ 3 ส่วน นั่นก็คือ Header, Body และ Footer

Header คือ

บริเวณด้านบนสุดของหน้าเว็บเพจซึ่งจะเป็นส่วนที่ใช้สำหรับแสดงชื่อเว็บไซต์ โลโก้ ไปจนถึงแถบเมนู (Navigation Bar) ที่เราจะสามารถลิงก์ข้ามไปยังหน้าอื่นๆ บนเว็บไซต์เราได้ อีกทั้งในส่วนนี้จะเป็นส่วนที่เราสามารถกำหนด Title ของเว็บไซต์เรารวมทั้งสไตล์ต่างๆ ภายในเว็บไซต์ทั้งหมดได้อีกด้วย

Body คือ

ส่วนกลางของเว็บไซต์ซึ่งจะเป็นพื้นที่สำหรับใส่ข้อมูลเนื้อหา (Content) ต่างๆ ที่เราต้องการ ประกอบไปด้วยตัวหนังสือ บทความ ตารางข้อมูล รูปภาพ วิดีโอและอื่นๆ

Footer คือ

ส่วนล่างสุดของเว็บไซต์มีไว้สำหรับใส่ลิงก์เพื่อเข้าสู่หน้าอื่นๆ รวมถึงข้อมูลเฉพาะต่างๆ ที่อาจจะไม่ได้สำคัญมาก ข้อมูลเพิ่มเติมจากหน้าเว็บไซต์รวมถึงที่อยู่สำหรับติดต่อ คำแนะนำ ลิขสิทธิ์ ฯลฯ ก็สามารถนำมาใส่ในส่วนนี้ได้

*ส่วนของ Footer จะมีหรือไม่มีบนเว็บไซต์ก็ได้

แท็กต่างๆ ที่คนทำ SEO ต้องรู้

<head>…</head> = สำหรับกดหนดชื่อเรื่อง ซึ่งจะมีคำสั่งย่อยเป็น Title อีกหนึ่งขั้น

<title>…</title> = แท็กคำสั่งสำหรับกำหนดชื่อเรื่องให้กับเว็บไซต์ โดยจะใช้ได้ก็ต่อเมื่ออยู่ภายในแท็ก <head> เท่านั้น เป็นตัวบ่งบอกว่าเว็บไซต์ของคุณคือเว็บไซต์อะไร

<body>…</body> = แท็กที่ใช้กำหนดส่วนของเนื้อหาบนหน้าเว็บไซต์

<h1>…</h1> = แท็กกำหนดหัวข้อเนื้อหา โดยสามารถไล่เป็นลำดับขั้นได้เล็กสุดไปจนถึง <h6>

<p>…</p> = แท็กกำหนดส่วนของเนื้อหาและบทความ (Paragraph)

***ไม่จำเป็นเสมอไปว่าขนาดตัวหนังสือของแท็ก <h1> จะต้องเป็นตัวที่ใหญ่ที่สุด แต่ขึ้นอยู่กับว่าคุณได้วาง Site Map เว็บไซต์เอาไว้อย่างไร เพราะคุณสามารถกำหนดขนาดตัวหนังสือของ <h1> – <h6> ในแต่ละอันให้มีรูปแบบ ขนาดต่างกันได้ (ที่จริงแล้วจะตั้งให้เหมือนและเท่ากันก็ได้ แต่ไม่มีใครทำเพราะจะทำให้สับสนตอนดูแล-ปรับปรุงเว็บไซต์)

HTML ภาษาเว็บไซต์ที่คนทำ SEO ต้องเข้าใจ

ในภาษา HTML ซึ่งเป็นภาษาสากลสำหรับการเขียนเว็บไซต์นั้นการแสดงผลเนื้อหาบนหน้าเว็บไซต์จะถูกไล่ตามลำดับความสำคัญจากแท็กซึ่งได้แก่ <h1> ไปจนถึง <h6> แล้วค่อยต่อด้วย <p> หรือให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือสิ่งที่คุณเห็นด้วยตาจะเป็นการเรียงลำดับขนาดตัวหนังสือ เล็ก ใหญ่ ตามความสวยงาม แต่ในระบบจะไล่ลำดับความสำคัญตามแท็กอย่างที่เราได้กล่าวไป ดังนั้นคุณจะต้องวางแผนแท็กต่างๆ อย่างเป็นระบบเสียก่อน แล้วค่อยไปกำหนดรูปแบบตัวหนังสือของแต่ละแท็กในภายหลัง

h1 คืออะไร 

h1 คือแท็กบนเว็บไซต์ที่มีหน้าที่ในการแสดงชื่อเรื่อง หัวเรื่องหรือหัวข้อหลักของคอนเทนต์ที่คุณใส่ลงไป เปรียบง่ายๆ เหมือนเวลาที่คุณเขียนจดหมาย h1 ก็คือชื่อเรื่อง รองลงมาก็จะเป็น h2 h3 ตามลำดับ ซึ่งถ้าเว็บไซต์ไหนไม่มีการใส่แท็ก <h1> เอาไว้ ก็เหมือนว่าเว็บไซต์นั้นมีแต่เนื้อหาที่ไม่มีชื่อเรื่อง ซึ่งนั่นก็จะส่งให้ Google ไม่สามารถรู้ได้ว่าคอนเทนต์ที่อยู่ในหน้าเว็บไซต์นั้นๆ เกี่ยวข้องกับอะไรและแน่นอนว่าจะกระทบกับการทำ SEO ในระยะยาว

h1 ต่างจากแท็ก Title ซึ่งจะอยู่ในส่วน Header ตรงที่ Title จะไม่ปรากฎให้เห็นในส่วนของเนื้อหาบนเว็บไซต์แต่จะแสดงผลบนหน้าผลลัพธ์การค้นหาของ Google และเป็นการบอก Google ว่าเว็บไซต์นี้เป็นเว็บไซต์อะไร ส่วนแท็ก h2 – h6 ก็จะเป็นการไล่ลำดับตามความสำคัญของหัวข้อดังที่เราบอกไป 

ดังนั้นหากคุณมีเนื้อหาคอนเทนต์ที่มีหัวข้อย่อยลงไปหลายขั้นห้ามใช้แท็ก <p> หรือ Paragraph แล้วปรับขนาดตัวอักษรตามต้องการ แต่ให้ใช้แท็ก​ <h1> – <h6> ในการกำหนดหัวข้อแทน ส่วนแท็ก <p> เอาไว้ใช้กับเนื้อหาคอนเทนต์ภายในเพียงอย่างเดียว

*หลายท่านที่เข้ามาทำงานด้านนี้ใหม่ๆ มักจะเข้าใจผิดและใช้แท็กผิดประเภทของงานตามไปด้วย

ทำไมต้องเข้าใจเรื่องพวกนี้

เพราะการทำ SEO นั้นไม่ใช่แค่การเขียนคอนเทนต์ ใส่คีย์เวิร์ด อัปโหลดขึ้นเว็บไซต์แล้วเว็บไซต์ของคุณจะขึ้นมาติดหน้าแรก Google ได้เอง แต่การทำ SEO ยังจะต้องมีกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพเว็บไซต์อีกหลายขั้นตอน โดยอาศัยการพัฒนาปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในเว็บไซต์ (On-Page) ที่จะต้องมีการจัดระเบียบตั้งแต่การวาง Site Map การเขียนคอนเทนต์ที่มีการใส่คีย์เวิร์ดซึ่งผ่านกระบวนการการตรวจสอบมาแล้วว่าเป็นคีย์เวิร์ดที่เหมาะสมและช่วยให้เว็บไซต์ของคุณติดหน้าแรก Google ได้ ไปจนถึงการจัดการกับลิงก์ต่างๆ บนหน้าเว็บให้สอดคล้องกัน

อีกทั้งยังมีปัจจัยภายนอก (Off-Page) ที่จะต้องมีลิงก์กลับเข้ามายังเว็บไซต์ของเรา (Backlink) ซึ่งก็มีหลากหลายวิธีในการได้มาเช่น มีคนอ้างอิงเนื้อหาโดยการใส่ลิงก์ของเราในบทความตามเว็บไซต์ต่างๆ วิธีนี้เราจะไม่สามารถทำเองได้เพราะขึ้นอยู่กับคนอื่นว่าเขาจะเขียนถึงเราหรือไม่ กับอีกวิธีก็คือการทำ Outreach หรือวิธีการที่เราทำคอนเทนต์ ใส่คีย์เวิร์ด ใส่ Anchor Link (ลิงก์ที่ใส่ไว้ในคำคีย์เวิร์ดเพื่อให้ผู้อ่านคอนเทนต์ สามารถเข้ามาศึกษาข้อมูลจากแหล่งอ้างอิง) แล้วทำการส่งคอนเทนต์เหล่านั้นไปยังเว็บไซต์ต่างๆ (ถ้าจะให้มีประสิทธิภาพ เว็บไซต์ที่ส่งไปก็จะต้องเป็นเว็บไซต์ที่มีคุณภาพด้วยเช่นกัน)

สิ่งที่ควรปรับปรุง พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพ ในการทำ SEO

On-Page

ถ้าเป็นเว็บไซต์ที่กำลังจะสร้างขึ้นใหม่ เราแนะนำให้คุณวาง Site Map ไว้ให้ดีตั้งแต่แรกเช่น หน้าต่างๆ การลิงก์เชื่อมกันระหว่างหน้าเว็บไซต์ ไปจนถึงคีย์เวิร์ดที่จะใส่ในคอนเทนต์ ความยาวคอนเทนต์ การใช้แท็กและรายละเอียดต่างๆ แต่ถ้าหากคุณมีเว็บไซต์เดิมอยู่แล้วสิ่งที่ต้องเข้าไปจัดการคือเรื่องของแท็กต่างๆ ตามที่เราได้เขียนไปข้างต้น เช่น เข้าไปดูว่า Title ของคุณใส่อะไรไว้ มีคีย์เวิร์ดอยู่ในนั้นบ้างหรือเปล่า <h1> ในแต่ละหน้ามีครบอยู่ไหมและยังมีรายละเอียดอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเดี๋ยวเราจะไปพูดในหัวข้อถัดๆ ไป

Off-Page

อย่างที่เราบอกว่าเป็นการทำคอนเทนต์เพื่อส่งออกจนได้ลิงก์กลับมา แต่ข้อควรระวังในเรื่องนี้คือ “คุณควรทำอย่างเป็นธรรมชาติ” ไม่ว่าจะเป็นการใส่คีย์เวิร์ดที่ไม่ควรมีมากจนเกินไป ที่สำคัญคือต้องเน้นประโยชน์กับผู้อ่านให้ได้มากที่สุด คอนเทนต์จำพวก Ever Green หรือคอนเทนต์ที่ผ่านไป 5 ปี กลับมาอ่านก็ยังมีประโยชน์อยู่ ไม่ใช่คอนเทนต์ที่เป็นกระแสหรือข่าวใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งที่เราแนะนำให้คุณทำมากที่สุด 

หลีกเลี่ยงการยัดคีย์เวิร์ดมากจนเกินไปเพราะอาจจะทำให้ถูกมองว่าเป็นสแปมได้ไปจนถึงระวังการสปินบทความหรือการสร้างบทความจำนวนมากๆ เพื่อนำไปโพสต์ต่อ เป็นวิธีการที่นำบทความหนึ่งมา ตัด แปะ หัวท้ายสลับกันไปมาเพื่อให้มีความหลากหลายขึ้น (ไม่ได้เขียนใหม่ทั้งหมดเหมือนบทความปกติ) ซึ่งก็จะมีทั้งแบบที่คนยังอ่านรู้เรื่องกับอีกแบบที่ทำเฉพาะสำหรับให้ Bot อ่านรู้เรื่องเท่านั้น

วิธีการแบบนี้ในช่วงแรกคุณอาจจะเห็นว่า Rank หรือลำดับหน้าเว็บไซต์ของคุณพุ่งขึ้นได้ดี แต่ในระยะยาวหาก Google ตรวจสอบได้ คุณอาจจะเจอบทลงโทษที่ได้ไม่คุ้มเสีย ดังนั้นเน้นย้ำอีกครั้งว่าการทำ SEO ที่ดีคือการทำอย่างเป็นธรรมชาติ สม่ำเสมอและใช้เวลา

ทำ SEO ยากไหม?

สิ่งที่หลายคนมักเข้าใจผิดและคิดกันไปเองก็คือ การทำ SEO นั้นเป็นเรื่องเฉพาะทางต้องอาศัยเครื่องมือราคาแพง ต้องมีความรู้เฉพาะด้าน ซึ่งความเข้าใจนี้ถูกต้องเพียงครึ่งเดียวนั่นก็คือการทำ SEO จะต้องอาศัยองค์ความรู้ต่างๆ ที่เราได้เขียนไปตั้งแต่ตอนต้นของบทความซึ่งเรื่องเหล่านี้คุณสามารถศึกษาด้วยตัวเองและเข้าใจได้ไม่ยาก

แต่ปัจจัยสำคัญว่าทำ SEO ยากหรือไม่นั้นแท้จริงแล้วขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมที่คุณทำธุรกิจอยู่ว่ามีการแข่งขันกันสูงหรือไม่ ยิ่งมีการแข่งขันทางธุรกิจสูงแน่นอนว่าก็จะมีการแย่งชิงตำแหน่งหน้าแรกของ Google สูงขึ้นตามไปด้วยเพราะทุกๆ ธุรกิจในปัจจุบันล้วนอยู่บนโลกออนไลน์เหมือนกัน

ดังนั้นก่อนจะเริ่มทำ SEO ด้วยตัวเองคุณควรจะศึกษาคู่แข่งว่าเขาทำอย่างไรเว็บไซต์ถึงอยู่ในหน้าแรก Google ได้ แล้วเราก็นำมาปรับใช้กับเว็บไซต์ของเรา ทั้งเนื้อหาคอนเทนต์บนหน้าเว็บไซต์ ต้องเน้นตอบโจทย์อ่านง่าย เว็บไซต์ใช้งานง่าย ดึงให้คนอยู่บนเว็บไซต์ของเราให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราไม่ได้บอกให้คุณลอกสิ่งที่คู่แข่งของคุณทำอยู่ แต่ให้ศึกษาและนำมาพลิกแพลงปรับใช้

 

อยากทำ SEO ด้วยตัวเอง เริ่มอย่างไรบ้าง

เราเชื่อว่าเดี๋ยวนี้มีนักธุรกิจรุ่นใหม่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันและหลายๆ คนก็ยังไม่ได้มีงบประมาณสำหรับการจ้างเอเจนซี่เพื่อเข้ามาดูแลงานด้านเหล่านี้ ดังนั้นพวกเขาจึงจะต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเองและแน่นอนว่าการทำ SEO เราก็สามารถทำด้วยตัวเองได้โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. วางจุดประสงค์ในการทำ SEO ของคุณให้ดี

แน่นอนล่ะว่าเป้าหมายในการทำ SEO นั้นก็เพื่อให้เว็บไซต์ของคุณไต่ลำดับจนขึ้นมาอยู่ในหน้าแรกของ Google ได้ แต่มันมีรายละเอียดที่คุณควรจะกำหนดให้ลึกลงไปกว่านั้น นั่นก็คือคุณต้องการทำให้เว็บไซต์ของคุณติดหน้าแรกไปเพื่ออะไร เช่น เพื่อให้คนเข้ามาอ่านข้อมูลเพิ่มเติมบนหน้าเว็บไซต์ หรือเพื่อให้คนเข้ามาคลิกสั่งซื้อสินค้าบนหน้าเว็บไซต์ เป็นต้น

เพราะเมื่อคุณมีเป้าหมายที่แน่ชัด การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพก็จะไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งการออกแบบหน้าเว็บ การปรับแต่ง UX & UI ไปจนถึงการเลือกคีย์เวิร์ดเพื่อใส่เข้าไปในคอนเทนต์ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราบอกไปนั้นมีผลกับการตรวจสอบของ Google ด้วยกันทั้งสิ้น

2. เลือกหน้าเว็บที่ต้องการจะทำ SEO

สิ่งที่คุณควรรู้อีกอย่างหนึ่งคือ การทำ SEO นั้น ไม่ใช่ว่าทำครั้งเดียว หน้าเดียวแล้วเว็บไซต์ของคุณจะขึ้นไปอยู่หน้าแรก Google ทั้งหมด ส่วนใหญ่ที่เราต้องทำกันอยู่แล้วแน่นอนว่านั่นต้องเป็นหน้าแรกหรือ Home Page แต่เว็บไซต์ของธุรกิจต่างๆ ย่อมไม่ได้มีเพียงหน้าแรกหน้าเดียว 

เรายังมีหน้าอื่นๆ อาทิ หน้าสินค้า บริการ ติดต่อสอบถาม ข้อมูลเพิ่มเติม ฯลฯ ซึ่งหน้าเหล่านี้ ก็ต้องการการเพิ่มประสิทธิภาพและทำ SEO เช่นกัน โดยการเลือกหน้าเว็บที่จะทำ SEO นั้นก็ควรจะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในข้อแรกของคุณด้วย

3. ตรวจสอบประสิทธิภาพเว็บไซต์ (Audit)

หากคุณมีเว็บไซต์เดิมอยู่แล้ว ส่ิงที่ต้องทำคือตรวจสอบหรือทำ SEO Audit สิ่งต่างๆ ที่คุณมีว่ามันเหมาะสมกับการทำ SEO ในปัจจุบันหรือไม่ เรื่องที่ควรจะดูก็มีพวกแท็กต่างๆ ที่เราเขียนไว้แล้ว นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ Page Speed หรือความเร็วหน้าเว็บไซต์ที่จะต้องใช้งานได้อย่างสเถียรหรือไม่หน่วงจนเกินไป ซึ่งก็ต้องไปดูตั้งแต่การวาง UX & UI ของเว็บไซต์ ภาพต่างๆ ที่ใช้จะต้องคมชัดสวยงามแต่ขนาดไฟล์ก็ต้องไม่หนักจนทำให้เว็บไซต์ดาวน์โหลดช้า รวมถึงการใส่ Alt Tag ในภาพและรายละเอียดจิปาถะอื่นๆ อีกมากมาย สรุปสั้นๆ ว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้ใช้ที่เข้ามายังเว็บไซต์ของเราใช้งานง่ายและอยู่บนเว็บไซต์นั้นให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได

**คุณสามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้ ฟรี! ในการตรวจสอบ Pagespeed ของคุณได้

https://tools.pingdom.com, https://gtmetrix.com, https://developers.google.com/speed/pagespeed/insights, https://www.webpagetest.org

4. ปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาคอนเทนต์ภายในเว็บไซต์

ส่วนสำคัญที่ไม่ทำไม่ได้ในการทำ SEO ก็คือการทำให้คอนเทนต์ของเรามีประสิทธิภาพสูงที่สุด คำว่ามีประสิทธิภาพคือคอนเทนต์จะต้องมีประโยชน์ มีการใส่คีย์เวิร์ดที่ได้มีการตรวจสอบแล้วว่าเหมาะสำหรับนำมาใช้ในการทำ SEO แต่ก็จะต้องไม่ใส่มากจนเกินไปและจะต้องเป็นภาษาที่คนอ่านรู้เรื่องด้วย เพราะหลายๆ ครั้งคนทำเว็บไซต์มัวสนใจแต่การใส่คีย์เวิร์ดเข้าไปมากๆ พออ่านจริงก็งงตาแตกเพราะจับใจความสำคัญอะไรไม่ได้

อีกเรื่องคือการแทรก Anchor Link ที่จะต้องดูให้ดีว่าลิงก์ที่เราใส่ไปนั้นเกี่ยวข้องกับคำคีย์เวิร์ดที่เราเอาลิงก์เข้าไปใส่หรือไม่ เพราะถ้าคำคีย์เวิร์ดเป็นเรื่องหนึ่ง แต่พอคนคลิกลิงก์เข้าไปแล้วพาไปอีกหน้าที่ไม่ได้เกี่ยวกับคำนั้นเลย คะแนนในการทำ SEO ของคุณก็จะลดลงทันทีเช่นกัน

5. วิเคราะห์ อัปเดตข้อมูลอยู่เสมอ

เมื่อทำการตรวจสอบ แก้ไข ปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแล้ว ก็อย่าทิ้งเอาไว้แค่นั้นคุณจะต้องหมั่นกลับมาอัปเดตคอนเทนต์ให้ทันสมัยอยู่เสมอเพราะข้อมูลบางอย่างก็ไม่ได้จะเป็นเหมือนเดิมไปตลอดการ ปรับคีย์เวิร์ดเพิ่มเติมเพื่อดันให้หน้าเว็บไซต์ของคุณขึ้นหน้าแรกจากคำอื่นๆ บ้าง มีการเพิ่มเนื้อหาให้มากขึ้นอาจจะใช้เครื่องมืออย่าง Google Search Console ช่วยดูควบคู่กันไปว่าคนเข้ามาเว็บไซต์เราได้อย่างไร มาจากคำไหน เราจะได้รู้สถานการณ์และทำให้มันดีหรือดีขึ้นอยู่เสมอ

การทำ SEO มีประโยชน์อย่างไร

“ที่ใดมีคนอยู่มาก ที่นั่นย่อมมีธุรกิจเกิดขึ้นเสมอ” หากคุณเคยได้ยินใครสักคนพูดอะไรทำนองนี้ก็จะพอเข้าใจได้แล้วว่า ทำไมการที่เว็บไซต์ของเราขึ้นหน้าแรก Google ได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ การทำ SEO นั้นจะช่วยเพิ่มโอกาสให้คนที่ค้นหาสิ่งต่างๆ บนโลกออนไลน์สามารถหาคุณเจอ เช่นสมมติผู้เขียนต้องการหาซื้อรองเท้าสักคู่ ในโลกใบนี้มีแบรนด์รองเท้านับไม่ถ้วน แต่พอผู้เขียนค้นหาผ่าน Google แล้วเว็บไซต์ของคุณดันปรากฎให้เห็นก่อนเป็นอันดับต้นๆ แน่นอนว่าการตัดสินใจที่จะคลิกเข้าไปดูมันมีมากกว่าอยู่แล้ว นอกจากนั้นยังช่วยเรื่องความน่าเชื่อถืออีกด้วย เพราะใครๆ ต่างก็รู้ว่าการจะขึ้นมาอยู่บนหน้าแรก Google ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

อีกทั้งการทำ SEO นั้นสามารถทำได้ฟรีและพอเมื่อคุณทำจนเว็บไซต์ติดหน้าแรกได้แล้ว ก็ยังช่วยลดต้นทุนในการซื้อโฆษณาได้อีกด้วย เพราะเสิร์ชแล้วก็เจอเลย (ปกติถ้าเว็บไซต์ยังไม่ขึ้นหน้าแรก คุณสามารถทำให้เว็บไซต์แสดงอยู่บนหน้าแรกได้เร็วที่สุดคือการซื้อโฆษณา Search Ad กับ Google แต่ก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำโฆษณา)

ทั้งหมดนี้ก็คือวิธีการทำ SEO ที่คุณสามารถนำไปปรับใช้ในเว็บไซต์ของคุณเองได้ คราวนี้เรามาดูคำศัพท์ที่คนทำ SEO ควรรู้เอาไว้

คำศัพท์น่ารู้ที่คนทำ SEO พลาดไม่ได้

Algorithm หมายถึง

กระบวนการการทำงานที่ทางแพลตฟอร์มซึ่งในที่นี้คือ Google ออกแบบเอาไว้โดยใช้หลักเหตุและผลมาช่วยเลือกวิธีการหรือขั้นตอนการดำเนินงานต่อไป เพื่อจุดประสงค์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของแพลตฟอร์มให้สูงที่สุดและโปร่งใส

Keyword หมายถึง

คำค้นหาที่ผู้คนใช้สำหรับค้นหาสิ่งต่างๆ ใน Search Engine เช่นหากคนกำลังต้องการซื้อบ้านมือสองย่านรังสิต เขาก็อาจจะใช้คำค้นหาอย่าง “บ้านมือสองรังสิต ไม่เกิน 2 ล้าน” เป็นต้น

Web Page หมายถึง

หน้าต่างๆ ที่อยู่ในเว็บไซต์ เพราะใน 1 เว็บไซต์โดยทั่วไปมักจะมีหลาย Web Page เช่น หน้าแรก หน้าบทความ หน้าสินค้า หน้าติดต่อเรา ฯลฯ 

Rank หมายถึง

การจัดลำดับเว็บไซต์ใน Google หรือ Search Engine อื่นๆ ยิ่งถ้า Rank ของคุณสูงขึ้น เท่ากับว่าเว็บไซต์ของคุณก็กำลังค่อยๆ เขยิบขึ้นมาในหน้าแรก Google ขึ้นอยู่ที่ว่าคุณอยู่ใน Rank ลำดับที่เท่าไร

Organic หมายถึง

การกระทำใดๆ ก็ตามที่ทำอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ได้ใช้เงินในการซื้อโฆษณาหรือการสแปม

Optimize หมายถึง

การเพิ่มประสิทธิภาพ ด้วยการเข้าไปตรวจสอบ แก้ไข ปรับปรุงและอัปเดตอยู่เสมอ

Backlink หมายถึง

ลิงก์เว็บไซต์ของเราที่ถูกนำไปแปะไว้ตามเว็บไซต์อื่นๆ และมีคนคลิกกลับเข้ามา โดยส่วนมากมักจะถูกใส่เอาไว้ในรูปแบบของลิงก์อ้างอิง และ Anchor Link 

Rich Snippet หมายถึง

การแสดงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ในหน้าค้นหาของ Google ซึ่งจะพิเศษกว่าตรงที่จะแสดงข้อมูลอื่นๆ นอกเหนือจาก Title และ Description อาทิ คะแนนรีวิว รูปภาพ ราคาสินค้า ฯลฯ โดยผู้ใช้สามารถใส่ข้อมูลเพื่อให้ Google แสดงผลตามที่เราต้องการได้

SERPs หมายถึง

ผลการแสดงลำดับของ Search Engine หรือเข้าใจง่ายๆ ก็คือหน้าผลลัพธ์การค้นหาบน Google เวลาที่คุณพิมพ์คีย์เวิร์ดลงไป โดยแบ่งเป็น 2 ชนิดได้แก่ Organic SERP Listings (ผลลัพธ์ที่แสดงการจัดอันดับแบบธรรมชาติ) กับ Paid SERP Listing (ผลลัพธ์ที่แสดงการซื้อโฆษณากับ Google หรือ Sponsored Links)

หากคุณเคยมองว่าการทำ SEO เป็นเรื่องที่เข้าถึงยากเป็นเรื่องเฉพาะทางที่คนเก่งๆ เท่านั้นจึงจะสามารถทำได้และถ้าคุณอ่านมาถึงตรงนี้ล่ะก็ จะเห็นได้ว่า SEO เป็นเรื่องที่สามารถศึกษาให้เข้าใจและทำด้วยตัวเองได้ เพียงแต่อาจจะต้องใช้เวลาและการทำอย่างสม่ำเสมอเท่านั้น